top of page
Clip path group
Clip path group

(ร่าง) ผังแม่บทสิงคโปร์ 2025 กับ การถอดบทเรียนสู่การพัฒนาผังเมืองไทย

ม.ค. 27

ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

2

30

0


Draft Master Plan 2025 Public Engagement

เมื่อกล่าวถึง "สิงคโปร์" หลายคนคงนึกถึงประเทศเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่จำกัด แต่สามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับโลกได้อย่างน่าทึ่ง สิงคโปร์ได้แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จของเมืองจากการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และการวางผังเมืองที่มีวิสัยทัศน์ พร้อมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรับมือกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง


ในอดีต ความสำเร็จของสิงคโปร์ พึ่งพาผังแม่บทที่เข้มงวดและเด็ดขาด เสมือนเป็น "คำสั่งปฏิบัติการ" ที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ชัดเจนในแต่ละยุคสมัย แต่ใน (ร่าง) ผังแม่บทสิงคโปร์ 2025 สิงคโปร์ได้ปรับกลยุทธ์โดยเน้นการ "ฟังเสียงประชาชน" ที่มากขึ้นในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างรากฐานของการสร้าง "ความร่วมมือ" อย่างแท้จริง กระบวนการนี้สะท้อนให้เห็นถึงให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืน


“ยืดหยุ่น” แต่ “ต่อเนื่อง” ความสำเร็จจากแม่บทในอดีต สู่(ร่าง)ผังแม่บทสิงคโปร์ 2025 โฉมใหม่

ผังแม่บทของสิงคโปร์ในแต่ละยุคสะท้อนถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่พัฒนาตามเป้าหมายและความท้าทายของแต่ละช่วงเวลา สอดรับกับกระแสการพัฒนาของโลก แต่อีกหนึ่งในส่วนประกอบของความสำเร็จ นั้นคือการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีช่องว่างหรือการหยุดชะงัก แต่ยังคงสานต่อความสำเร็จจากผังแม่บทฉบับก่อนหน้า พร้อมทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผังแม่บทฉบับใหม่สามารถอุดรอยรั่ว และยังตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยืดหยุ่น


สำหรับ“ร่างผังแม่บท 2025” ของสิงคโปร์ก็เช่นกัน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนาแนวคิด 4 ด้านสำคัญที่สานต่อจากความสำเร็จของผังแม่บทเดิม โดยครอบคลุมช่วงเวลา 10-15 ปีข้างหน้า ได้แก่:


  1. การสร้างเมืองที่สุขภาพดีและน่าอยู่: เชื่อมโยงชุมชนทุกแห่งเข้าด้วยกัน และทำให้ประชาชนเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างเท่าเทียม


  2. การเติบโตอย่างยั่งยืน: สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันนวัตกรรม


  3. การรับมือกับความไม่แน่นอน: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับวิกฤต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


  4. การอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม: รักษามรดกทางวัฒนธรรมและพื้นที่สีเขียว ควบคู่กับการพัฒนาเมือง




ม้ว่าทั้ง 4 แนวคิดข้างต้นจะไม่ใช่สิ่งใหม่ที่สร้างความประหลาดใจ หรือแตกต่างไปจากผังแม่บทฉบับเดิมมากนัก แต่จุดเด่นที่สำคัญของแผนนี้คือกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในทุกขั้นตอน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งผสมผสานวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ระยะยาวเข้ากับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริม "ความรู้สึกเป็นเจ้าของ" (Sense of Ownership) ซึ่งทำให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงของเมืองไปพร้อมกับภาครัฐและเอกชน

ผังเมืองไทย: ศักยภาพที่ยังรอการปลดล็อก?


เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ประเทศไทยก็มีศักยภาพมหาศาล ทั้งในแง่ของทรัพยากร วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ แต่อาจต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า แม้เราจะมีผังเมืองรวมและพรบ. ระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมาย อันเปรียบเสมือน "ธรรมนูญ" ที่ยึดโยงความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้ปฏิบัติตาม แต่กลับกลายเป็นว่า มันคงยังดูซับซ้อน ยุ่งยาก ไกลตัว และยากที่จะเข้าถึงในระดับประชาชน แม้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์ก็ตาม จึงทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ขาดหายไป อาจจะเป็นการสื่อสารที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ หรือแม้กระทั่งการขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของผังแม่บทในการพัฒนาเมือง เราจึงมักจะมองเห็นความสำคัญของผังเมืองเมื่อเกิดปัญหาและวิกฤตต่างๆ ขึ้น แต่กลับไม่ได้มองเห็นความสำคัญของการร่วมกันวางแผนอนาคตของเมืองอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการตั้งต้นที่สำคัญในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ทุกภาคส่วนในระยะยาว


เมืองไทยควรเริ่มอย่างไร?


อาจกล่าวได้ว่า ช่องว่างหนึ่งที่ประเทศไทยควรพิจารณาคือการสร้าง ผังแม่บทที่ฟังเสียงประชาชน และการเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเกิดประโยชน์ที่เสมอภาคและเป็นธรรมมากที่สุด การพัฒนาเมืองไม่ควรเป็นเพียงหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล เข้าใจผังเมือง และมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของเมืองในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นับว่ามีสัญญาณที่ดีที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทในการพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง ได้แก่:


มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562: เปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นขอแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะบริเวณ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
แอปพลิเคชัน “Check ผังเมือง กทม.”: ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและข้อกำหนดกฎหมายได้สะดวกยิ่งขึ้นผ่านเว็บไซต์ Check ผังเมือง กทม. ได้เลย

แล้วคุณล่ะ คิดว่าอะไรคือสิ่งแรกที่ผังเมืองไทยควรเปลี่ยนแปลง?ร่วมแชร์ความคิดเห็นเพื่อสร้างอนาคตเมืองไทยที่เราภูมิใจไปด้วยกัน ✨

#การวางแผนเมือง #สิงคโปร์ #บทเรียนสู่เมืองไทย #อนาคตที่ยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ

https://www.ura.gov.sg/Corporate/Planning/Master-Plan/Previous-Master-Planshttps://www.ura.gov.sg/Corporate/Planning/Master-Plan/Draft-Master-Plan-2025

https://www.mnd.gov.sg/our-work/draft-master-plan-2025

 



โพสต์ที่คล้ายกัน

ความคิดเห็น

Share Your ThoughtsBe the first to write a comment.
bottom of page